คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในบริเวณผนังเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายมนุษย์ เป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตฮอร์โมนเพศทุกชนิด และยังสร้างน้ำดี ตลอดจนสร้างสารสเตอรอลที่อยู่ภายใต้ผิวหนังให้เป็นวิตามินดี เมื่อร่างกายสัมผัสกับแสงแดด
โดยปกติแล้ว แต่ละคนจะมีปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายที่แตกต่างกัน แล้วแต่ปริมาณและชนิดของอาหารที่รับประทานเข้าไป ซึ่งคอเลสเตอรอลสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง นอกจากนี้ภายในตับของมนุษย์ก็ยังสามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลขึ้นเองได้ และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีปริมาณคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น คอเลสเตอรอลที่เกินมานั้นก็จะกลายเป็นส่วนที่ไม่มีความจำเป็นต่อร่างกาย และทำให้เกิดโทษต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้
ประโยชน์ของคอเลสเตอรอล
คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าคอเลสเตอรอลนั้นมีแต่โทษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คอเลสเตอรอลก็มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดียวกัน โดยแยกเป็นประโยชน์ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้ดังนี้
1. คอเลสเตรอลแปรสภาพเป็นวิตามินดีได้
การแปรสภาพของคอเลสเตอรอลเป็นวิตามินดีนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากรังสียูวีในแสงแดด ทำให้เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเพียง คอเลสเตอรอลก็จะแปรสภาพเป็นวิตามินดี ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก
2. คอเลสเตอรอลทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนสำคัญ
คอเลสเตอรอลถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์จากต่อมหมวกไต ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย เช่น คอร์ติโซน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการสร้างฮอร์โมนเพศชายและหญิง
3. คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของเยื้อหุ้มเซลล์ในร่างกาย
เยื่อหุ้มเซลล์ในร่างกายทุกตัวนั้นมีส่วนประกอบหลักเป็นคอเลสเตอรอล ดังนั้น หากขาดคอเลสเตอรอลไปก็อาจจะทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายผิดปกติได้
แหล่งอาหารที่สามารถพบคอเลสเตอรอล
อาหารที่สามารถพบปริมาณคอเลสเตอรอลได้ก็คือ อาหารที่มาจากตัวสัตว์หรือมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อปลา หรือน้ำมันจากเนื้อสัตว์ ไข่ นมพร่องมันเนย และนมวัว เป็นต้น อาหารจำพวกนี้ล้วนแล้วแต่มีปริมาณของคอเลสเตอรอลในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันออกไป
แหล่งอาหารที่ไม่พบคอเลสเตอรอล
ส่วนอาหารที่ไม่พบคอเลสเตอรอลนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่างๆ เช่น มะพร้าว องุ่น แครอท คะน้า หรืออาหารที่มีที่มาจากน้ำมันที่สกัดจากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่ว น้ำมันมะกอก โดยอาหารเหล่านี้จะไม่มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลรวมอยู่แต่อย่างใด
ส่วนประกอบของคอเลสเตอรอล
คอเลสเตอรอลมีส่วนประกอบสำคัญจากสาร 3 ชนิด ได้แก่ ไขมันไม่ดี, ไขมันดี และ ไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งเป็นตัวที่สามารถใช้สังเกตได้ปริมาณของคอเลสเตอรอลได้ว่าสูงไปเกินความจำเป็นหรือไม่
1. ไขมันดี HDL (High Denstiy Lipoprotein)
ไขมันดี คือไขมันที่มีความหนาแน่นสูง มีประโยชน์ต่อหลอดเลือดแดง โดยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีไปสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดง ซึ่งค่าปกติของไขมันดีในร่างกายคือ ไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl หากมีไขมันดีในเลือดต่ำ ก็จะเป็นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นต้น ส่วนอาหารที่สามารถพบขันดีได้ในปริมาณสูงก็คือ ข้าวโพด, น้ำมันมะกอกและถั่วเหลือง
2. ไขมันเลว LDL (Low Density Liloprotein)
ไขมันไม่ดี คือไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ หากมีค่าของไขมันไม่ดีในร่างกายเกิน 120 mg/dl ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง ส่งผลให้โรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยไขมันไม่ดีนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- ไขมันอิ่มตัว (Saturated Fats) คือไขมันที่ได้จากสัตว์เป็นหลัก เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด หรือไขมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และกะทิ โดยอาหารเหล่านี้จะมีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ
- ไขมันไม่อิ่มตัว (Tran Fatty Acid) คือไขมันที่ได้จากน้ำมันพืช ซึ่งผ่านกรรมวิธีในการเติมไฮโดรเจนเข้าไป ได้แก่ มาการีน น้ำมันทอดอาหารประเภทต่างๆ อาหารฟาสต์ฟู้ด โดยไขมันชนิดนี้ให้ปริมาณคอเลสเตอรอลที่สูงกว่าไขมันประเภทอิ่มตัว
3. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
ไตรกลีเซอไรด์ คือชื่อเรียกไขมันอีกหนึ่งประเภท โดยเกิดจากการที่ตับในร่างกายมนุษย์สังเคราะห์เพื่อนำมาใช้เอง หรือรับเข้าร่างกายจากการรับประทานอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่เข้าไปโดยตรง โดยเป็นไขมันที่สามารถดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ในขณะที่บางส่วนนั้นก็จะถูกสะสมไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน หากรับประทานเกินความจำเป็น หรือมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์สะสมในร่างกายมากเกินไป ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้ โดยระดับปกติของไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายมนุษย์ไม่ควรเกิน 150 mg/dl
ผลกระทบเมื่อได้รับคอเลสเตอรอลมากเกินไป
เมื่อร่างกายมีปริมาณไขมันไม่ดีในระดับที่มากเกินไปหรือเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ ไขมันเหล่านั้นจะถูกกักเก็บไว้ในผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดเกิดไขมันสะสมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขนาดหลอดเลือดแดงแคบและหนามากขึ้น จนเกิดความยากลำบากในการลำเลียงเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ หากปล่อยไว้ก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับหัวใจ นำมาซึ่งสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั่นเอง