โครเมียม (Chromium) เป็นแร่ธาตุที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการเผาผลาญน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เพื่อให้ได้รับพลังงานอย่างเหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย โดยแร่ธาตุชนิดนี้ร่างกายจะสามารถเก็บสะสมได้น้อยลง เมื่อมีอายุมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดการขาดโครเมียมหรือได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดแข็งตัวได้
แหล่งที่พบโครเมียม
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุโครเมียม ได้แก่ เนื้อไก่ จมูกข้าวสาลี ตับลูกวัว เป็นต้น โดยสามารถนำอาหารที่อุดมไปด้วยโครเมียมมาปรุงได้หลากหลายวิธี เพื่อให้ทานง่ายยิ่งขึ้น
โครเมียมทำหน้าที่อะไร
หน้าที่หลักสำคัญของแร่ธาตุโครเมียม คือ การกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลไปเป็นพลังงาน โดยขบวนการสังเคราะห์กรดไขมัน และหน้าที่สำคัญอีกอย่างของแร่ธาตุโครเมียม คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ รักษาสมดุลการทำงานของอินซูลิน ในการจัดการกับน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือด เช่น ป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ (ภาวะที่มีอินซูลินมากเกินไป) หรือในผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ภาวะที่มีอินซูลินน้อยเกินไป)
ภาวะขาดโครเมียม
ปริมาณโครเมียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันคือ 50-200 ไมโครกรัมต่อวัน โดยเมื่อร่างกายได้รับแร่ธาตุโครเมียมในปริมาณที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อการเกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ขบวนการสังเคราะห์กรดไขมัน ระดับอินซูลินสูงหรือต่ำมากจนเกินไป และการทำงานของอินซูลินที่ลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคเบาหวาน โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจพบการขาดแคลนแร่ธาตุโครเมียม ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ นักกีฬา และหญิงตั้งครรภ์
แต่ในส่วน ร้อยละ 90 ของกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานทั่วไป ที่มีการขาดแร่ธาตุโครเมียม จะได้รับการทดแทนด้วยแร่ธาตุอีกหนึ่งชนิด นั่นก็คือ แร่ธาตุสังกะสี เพราะแร่ธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติและหน้าที่การทำงานคล้ายคลึงกับโครเมียม อีกทั้งยังสามารถพบได้ในอาหารที่หลากหลายมากกว่า จึงทำให้หาทานง่ายและสะดวกในการดำเนินชีวิต
แร่ธาตุโครเมียม เป็นแร่ธาตุที่คนรู้จักกันน้อยมมาก และให้ความสำคัญหรือความสนใจน้อยตามไปด้วย แต่แร่ธาตุชนิดนี้มีส่วนสำคัญมาก กับกระบวนการและการรักษาสมดุลการทำงานของสารในร่างกาย ดังนั้น แร่ธาตุโครเมียม จึงเป็นอีกหนึ่งแร่ธาตุสำคัญที่ไม่ควรละเลยเด็ดขาด