ไกลโคเจน (Glycogen) คือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย พบได้ในตับและในเลือด โดยมีคุณสมบัติในการสะสมกลูโคสของคนและสัตว์ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานสำรองให้กับร่างกาย ถือเป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่ต้องการปริมาณกลูโคส เพราะไกลโคเจนจะถูกสลายไปเป็นกลูโคสได้ทันที เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงสมองและเซลล์ต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
ไกลโคเจนที่ถูกสะสมอยู่ในบริเวณตับของมนุษย์และสัตว์จะทำหน้าที่ปรับสมดุลของระดับกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดลดลง หรืออยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ตับก็จะทำการเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายมีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่ถ้าหากในตับขาดปริมาณไกลโคเจนในปริมาณที่พอเพียง ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายตามมาได้
หลักการเก็บสะสมไกลโคเจนในร่างกาย
คาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายได้รับนั้น จะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้นจะได้รับการดูดซึมเข้ากระแสเลือด ก่อนจะนำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หลังจากนั้นกลูโคสก็จะได้รับการย่อยสลาย เปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยกลูโคสในส่วนที่ไม่ย่อยสลายไปนั้น ร่างกายจะนำไปสร้างเป็นไกลโคเจน โดยมีการเก็บสะสมเอาไว้ที่บริเวณตับและกล้ามเนื้อ โดยที่ตับนั้นสามารถเก็บสะสมไกลโคเจนได้ 100 กรัม ส่วนที่กล้ามเนื้อจะเก็บสะสมได้ราวๆ 400 กรัม ทำให้เมื่อมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่นการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเคลื่อนไหว ร่างกายก็จะนำพลังงานจากไกลโคเจนที่สะสมไว้ออกมาใช้ จึงสังเกตได้ว่านักกีฬาส่วนใหญ่นิยมบริโภคคาร์โบไฮเดรต เช่น ขนมปัง, ข้าว, ก๋วยเตี๋ยว, เผือกและมัน ก่อนเล่นกีฬาเป็นหลัก
การดึงไกลโคเจนมาใช้เพื่อการออกกำลังกาย
ไกลโคเจนจะเริ่มสลายตัวออกมาเป็นพลังงานทีละน้อยๆ ในช่วงที่ออกกำลังกายหรือร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว และต้องการปริมาณพลังงานจากไกลโคเจนมาช่วยเสริมสร้าง ซึ่งปริมาณไกลโคเจนที่ถูกปล่อยออกมานั้นจะพอเพียงต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะไม่ได้กินอะไรเลยก็ตาม เพราะไกลโคเจนที่ถูกสะสมเอาไว้นั้น จะรอเวลาที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้จริงๆ ถึงจะปล่อยออกมา
หลักการผลิตไกลโคเจนในร่างกาย
เมื่อใดก็ตามที่มีปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าระดับปกติ ร่างกายก็จะเกิดภาวะขาดสมดุล โดยตับอ่อนจะทำการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ซึ่งจะช่วยทำให้น้ำตาลกลูโคสเข้าไปยังเซลล์ต่างๆ มากขึ้น แต่ถ้าในช่วงใดที่ร่างกายไม่ต้องการพลังงาน อินซูลินที่หลั่งออกมานั้น ก็จะเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นไกลโคเจน แล้วนำไปเก็บสะสมเอาไว้ที่ตับหรือกล้ามเนื้อ หากมีปริมาณมากเกินไป ก็จะเปลี่ยนไปเก็บไปในรูปไขมันแทน