ไอโอดีน (Iodine) เป็นแร่ธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกายในทุกๆ ช่วงวัย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตไอโอดีนได้เอง จึงมีความจำเป็นต้องได้รับมาจากการรับประทานอาหารเท่านั้น
สารไอโอดีนมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมอง ในทารกตั้งแต่ช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จนถึงช่วงประมาณอายุ 2-3 ขวบ เพราะโดยปกติแล้วทารกในครรภ์จะได้รับ ไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากไอโอดีน จากมารดาถ่ายทอดมาสู่ทารกในครรภ์ เพื่อเพิ่มจำนวนและขนาดของเซลล์สมอง และยังคงมีความจำเป็นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัย 2-3 ขวบ โดยในภาวะปกติเด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ต้องการไอโอดีนในปริมาณวันละ 150 ไมโครกรัม ส่วนหญิงตั้งครรภ์จะต้องการในปริมาณที่เพิ่มขึ้น คือ วันละ 250 ไมโครกรัม
อาหารที่พบไอโอดีน (นอกจากในเกลือสมุทร)
- อาหารทะเล ยกตัวอย่างเช่น สัตว์ทะเล (ปลากุ้งหอย ปู เป็นต้น) สาหร่ายทะเล
- ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน เช่น กลุ่มยาและอาหารเสริม น้ำมันตับปลา
- ผักและผลไม้ เช่น ผักโขม ผักกาดเขียว บร็อคโคลี่ สตรอเบอรี่
- ผลิตภัณฑ์ประเภทโปรตีน ยกตัวอย่างเช่น โยเกิร์ต ไข่ และนม เป็นต้น
- ธัญพืช ยกตัวอย่างเช่น เมล็ดงา ถั่วเมล็ดแบน
ประโยชน์ของไอโอดีน
- ช่วยในการกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจ และร่างกายได้
- ช่วยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของแคโรทีน และสังเคราะห์เป็นวิตามินเอ รวมถึงมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน และการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็ก
- พัฒนาการสมอง ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- กระตุ้นอัตราการเผาผลาญ ช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในร่างกาย จึงดีต่อคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
- กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ให้ทำงานได้ดีขึ้น
- เพิ่มอัตราความเร็วในการเคลื่อนย้ายและสะสม แคลเซียมหรือฟอสฟอรัสจากกระดูก
- ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และควบคุมสมดุลของน้ำตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
ภาวะขาดไอโอดีน
ภาวะการขาดไอโอดีน จะส่งผลกระทบรุงแรงกับระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดการแท้งของทารกในครรภ์ เสียชีวิตหลังคลอด และมีความผิดปกติแต่กำเนิดได้ นอกจากนี้ในภาวะที่เกิดการพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ก็จะส่งผลทำให้การพัฒนาทางสมองและสติปัญญา มีความล่าช้าได้เช่นกัน ส่วนในช่วงวัยผู้ใหญ่จะทำให้เกิดภาวะคอพอก และอาจเกิดความพิการทางระบบประสาทได้อีกด้วย
หากแม่ขาดไอโอดีน
เนื่องจากไอโอดีน มีความสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ ถ้าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะขาดสารไอโอดีน จะส่งผลต่อการพัฒนาของเซลล์สมอง และระบบประสาทของทารกในครรภ์ได้ โดยทำให้ระดับไอคิวของทารกต่ำลง และหากแม่ขาดสารไอโอดีนในระดับที่รุนแรง ก็อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้แท้งลูก เกิดการพิการแต่กำเนิด หรือทารกที่คลอดออกมาจะมีสมองที่เติบโตช้ากว่าปกติและมีผลต่อสติปัญญาโดยตรงอีกด้วย
โดยจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทานไอโอดีนวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือ 150 ไมโครกรัมต่อลิตร และเพื่อป้องกันภาวะหรือความผิดปกติที่เกิดจากการขาดสารไอโอดีนในคนไทย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้เน้นทานอาหารที่มีไอโอดีนตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอาหารทะเล และเลือกรับประทานเกลือไอโอดีนที่มีคุณภาพ จะช่วยป้องกันการขาดไอโอดีนได้ดี
เกลือเสริมไอโอดีน
เกลือเมื่อเข้าไปสู่ร่างกายแล้ว จะถูกส่งต่อไปตามกระแสเลือด เพื่อส่งต่อไปยังเซลล์และอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่จะเป็นตัวช่วยในการควบคุมสมดุลของน้ำภายในร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้ร่างกายสร้างกรดในน้ำย่อย ซึ่งเป็นเอ็นไซม์สำคัญในการย่อยอาหาร แต่หากในภาวะปกติร่างกายได้รับไอโอดีนมากเกินไป จะส่งผลต่อไตโดยตรง โดยไตเป็นอวัยวะที่มีทำหน้าที่ในการขับเกลือออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะหรือผิวหนัง ถ้าร่างกายได้รับเกลือในปริมาณมากเกินไปบ่อยๆ จะทำให้ความเข้มข้นของเลือดสูงมาก เนื่องจากไตต้องทำงานหนักเกินไป จึงอาจเป็นสาเหตุและปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูงได้ ซึ่งกรมอนามัยมีการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในประเทศไทย มองเห็นและเข้าใจถึงความสำคัญของไอโอดีนที่มีผลต่อสุขภาพประชาชน และรณรงค์ให้กลุ่มผู้ประกอบการหันมาใช้เกลือและเครื่องปรุงรสที่มีการผสมไอโอดีนเท่านั้น
ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการรักษาสมดุลในร่างกาย และการพัฒนาการเจริญเติมโตของระบบประสาท ดังนั้นจึงควรทานอาหารที่มีแร่ธาตุไอโอดีนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียและทำให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น