ธาตุเหล็ก (Iron) คือสารอาหารที่เป็นหัวใจหลักสำคัญในการผลิตเฮโมโกลบิน ไมโอโกลบลินและเอนไซม์บางชนิด นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต่อการเผาผลาญวิตามินบีในร่างกาย โดยมีส่วนช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อช่วยในการลำเลียงออกซิเจนให้ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ หากร่างกายมนุษย์ขาดแคลนธาตุเหล็ก ก็จะทำให้เกิดภาวะโรคโลหิตจาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน
แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
ธาตุเหล็กสามารถพบได้จากแหล่งอาหารต่างๆ ได้แก่ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ เต้าหู้ ข้าวกล้อง ผลไม้อบแห้ง ธัญพืช ผักใบเขียว จำพวกคะน้า ผักสลัด ซึ่งจากรายงานของสถาบันทางการแพทย์ ได้ระบุถึงพืชที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 10 อันดับแรก ที่เหมาะสำหรับการรับประทานเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยมีดังนี้
ผักกูด, ถั่วฝักยาว, ผักแว่น, เห็ดฟาง, พริกหวาน, ใบแมงลัก, ใบกะเพรา, ผักเม็ก, ยอดมะกอก, กระถิน
การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงอาหารที่ทานในช่วงเดียวกัน เพราะอาหารบางประเภทจะสามารถขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกายได้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม, ถั่วเหลือง, ชา, กาแฟ, ข้าวไม่ขัดสี เป็นต้น จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ หากต้องการให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างครบถ้วน
ธาตุเหล็กและความจำเป็นต่อร่างกาย
ร่างกายของมนุษย์ โดยปกติแล้ว จำเป็นต้องได้รับพลังงานจากสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่มีส่วนช่วยในการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อทดแทนการสูญเสียธาตุเหล็กที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทั้งจากทางผิวหนังและเหงื่อ รวมไปถึงการสูญเสียธาตุเหล็กในช่วงที่มีประจำเดือน อีกทั้งในแต่ละช่วงวัยของอายุคนเรานั้นก็มีความต้องการธาตุเหล็กในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว ธาตุเหล็กจะมีปริมาณมากพอในน้ำนมแม่ สำหรับการเลี้ยงดูทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน โดยธาตุเหล็กที่อยู่ในน้ำนมแม่ สามารถดูดซึมได้ดีกว่าน้ำนมวัวหลายเท่า ทำให้เด็กทารกที่ดื่มนมแม่โดยตรงตั้งแต่แรกเกิด ร่างกายจะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่โดยตรง เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่โดยตรงนั้นหากต้องดื่มนมผง ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกนมผงที่เสริมธาตุเหล็กเข้าไปด้วย เพื่อให้ได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอตั้งแต่ยังเล็ก
เมื่อเด็กเจริบเติบโตจนถึงช่วง 6 เดือนแรก ธาตุเหล็กที่ถูกสะสมในร่างกายก็จะหมดสิ้นไป จึงจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กจากอาหารประเภทอื่นๆ เช่น ไข่แดง และตับ โดยความต้องการของธาตุเหล็กของมนุษย์นั้น จะมีมากในช่วง 2 ขวบแรก และช่วงวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการเจริญเติบโต ที่ร่างกายจะใช้ปริมาณของธาตุเหล็กมากกับการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สาเหตุที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กในร่างกายมนุษย์นั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยสามารถแบ่งได้ปัจจัยในข้อดังต่อไปนี้
1. รับประทานอาหารที่ขาดธาตุเหล็ก
พบได้บ่อยในเด็กทารกช่วงแรกเกิด ที่ไม่ได้รับประทานนมแม่โดยตรง หรือรับประทานนมเพียงอย่างเดียว ทำให้ขาดธาตุเหล็กจากอาหารประเภทอื่นๆ สำหรับในช่วงวัยผู้ใหญ่นั้นก็มีความเสี่ยงในการขาดธาตุเหล็กจากการรับประทานอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่เพียงพอได้เช่นกัน แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
2. ร่างกายต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น
พบได้ในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือจำเป็นต้องให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะนอกจากจะนำไปหล่อเลี้ยงในร่างกายของมารดาเองแล้ว ก็จำเป็นต้องมีปริมาณที่เพียงพอต่อตัวทารกด้วยเช่นกัน เพราะทารกในครรภ์หรือเด็กเล็กๆ นั้น เป็นช่วงวัยที่ต้องการธาตุเหล็กในการเสริมสร้างร่างกายเป็นพิเศษ
3. ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ
เกิดจากภาวะที่ร่างกายสูญเสียเลือดเรื้อรัง โดยพบได้บ่อยใน กลุ่มผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือนออกมาปริมารมากและนานกว่าปกติ หรือภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งมีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง รวมไปถึงเลือดออกในหลอดอาหาร ริดสีดวงทวารหนัก หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การเสียเลือดจากสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กให้กับร่างกายมากขึ้น ก็คือ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกและเสียเลือดในทางเดินปัสสาวะ การเสียเลือดจากระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่การบริจาคเลือดบ่อยครั้ง แต่ขาดการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กทดแทน ทำให้ปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายมีไม่เพียงพอ
4. การดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายผิดปกติ
พบได้ในผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารลดลง เช่น ผู้ที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารเป็นเวลานานๆ หรือผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ การทำงานในส่วนต่างๆ มีประสิทธิภาพที่ลดลง ทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่เคยผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออก หรือผ่าตัดเอาลำไส้เล็กส่วนต้นออก รวมไปถึงผู้ที่มีอาการอักเสบของลำไส้เล็กส่วนต้นเรื้อรัง กลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่พอเพียงมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป
ธาตุเหล็กถือเป็นสารอาหารสำคัญของร่างกายที่ควรได้รับในปริมาณที่พอเพียง เพราะหากร่างกายขาดธาตุเหล็กเป็นระยะเวลานานติดต่อกันก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานในส่วนอื่นๆ ของร่างกายตามมา ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายมีธาตุเหล็กในปริมาณที่พอเหมาะ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นไข่แดง, ตับ หรือยาเสริมธาตุเหล็กประเภทต่างๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มระดับธาตุเหล็กในร่างกาย
ในช่วงวัยทารกและในช่วงวัยรุ่น ถือเป็นช่วงที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ควรพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วยบ่อย และช่วยให้ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในทุกช่วงวัย