21 พฤศจิกายน 2567

แลคโตส (Lactose) หรือน้ำตาลนม มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลประเภทอื่น พบมากในนมวัว

แลคโตส (Lactose)
สารบัญเนื้อหา

แลคโตส (Lactose or Milk Sugar) หรือมีอีกชื่อเรียกว่า น้ำตาลนม จัดเป็นแหล่งของสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญของร่างกาย โดยสามารถพบได้จากน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นมวัว, นมแพะหรือนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นน้ำตาลที่สังเคราะห์ในเต้านม โดยมีลักษณะเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ ประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวของกลูโคสและกาแลคโตสมารวมกัน

น้ำตาลแลคโตส มีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตนม เพราะถูกทำให้สลายตัวได้ง่ายโดยแบคทีเรีย จึงทำให้นมมีรสเปรี้ยว โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว แลคโตสก็จะถูกย่อยในลำไส้เล็กโดยแลคเตส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างจากผนังลำไส้ จนกลายมาเป็นกลูโคสและกาแลคโตส จากนั้นจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้ไปสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงร่างกายในรูปแบบพลังงาน

น้ำตาลที่ได้จากแลกโตสจะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลประเภทอื่นๆ โดยความหวานจะอยู่ในระดับ 20 เมื่อเทียบความหวานของน้ำตาลซูโครสในระดับ 100 ส่วนน้ำตาลกลูโคสนั้น มีความหวานเท่ากับ 70-80 และน้ำตาลฟรักโทส น้ำตาลที่มีความหวานมากที่สุด มีความหวานอยู่ที่ 140

แหล่งอาหารที่สามารถพบน้ำตาลแลคโตส

น้ำตาลแลคโตส สามารถพบได้ในน้ำนมของสัตว์ประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนม ดังต่อไปนี้

  • นมวัวขาดมันเนย นมวัวพร่องมันเนย และนมวัวธรรมดา 1 แก้ว ปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีแลคโตส 12 กรัม
  • นมแพะ 1 แก้ว ปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีแลคโตส 9 กรัม
  • นมข้น 1 ถ้วย ปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีแลคโตส 24 กรัม
  • ครีม 1 ถ้วย ปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีแลคโตส 8 กรัม
  • โยเกิร์ต 1 ถ้วย ปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีแลคโตส 5 กรัม
  • ไอศกรีม 1 ถ้วย ปริมาณ 250 มิลลิลิตร มีแลคโตส 12 กรัม
  • ชีส 1 ออนซ์ ปริมาณ 28 กรัม มีแลคโตส 1 กรัม

อาหารบางประเภทมักใส่นมเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้มีปริมาณแลคโตสรวมอยู่ด้วย เช่น ต้มยำกุ้ง, ซอสคาโบนาร่า, กาแฟนม, ครีมซุปต่างๆ ฯลฯ แต่ข้อเสียของการรับประทานนมในอาหารเหล่านี้ก็คือ การนำเอานมไปปรุงอาหารเป็นเมนูต่างๆ น้ำตาลแลคโตสจะไม่สามารถูกย่อยสลายได้

ประโยชน์ของแลคโตส

  1. ช่วยในการทำยาเม็ดและยาชนิดแคปซูล
  2. ทำให้เกิดสีและกลิ่นในผลิตภัณฑ์ประเภทนมและขนมปัง
  3. เป็นตัวนำให้แลคโตสในนมข้นหวานตกตะกอนได้ง่ายขึ้น
  4. ช่วยในการสร้างเซลล์สมองของเด็กอ่อน และเด็กแรกเกิด
  5. ช่วยควบคุมการหมักผลิตภัณฑ์นม

เอนไซม์ที่สามารถใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตสในร่างกายมนุษย์ได้ก็คือ แลคเตส ทำให้ได้น้ำตาลกลูโคส 1 โมเลกุลและน้ำตาลกาแล็กโทสอีกหนึ่ง โมเลกุล โดยเอนไซม์ชนิดนี้สามารถพบได้ในสัตว์ที่ยังไม่หย่านม ซึ่งภายในคนที่ไม่ค่อยดื่มนมหรือเลิกดื่มนมเป็นเวลานาน เอนไซม์แลคเตสจะหายไป เมื่อกลับมาดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมใหม่ๆ ร่างกายก็จะยังไม่มีเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้ต้องดึงออกมาจากลำไส้เล็กแทน ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวตามมา

ภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (Lactose Intolerance)

ภาวะการย่อยแลสโตสผิดปกติ คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเอนไซม์แลคเตส ที่ใช้ย่อยสลายแลคโตส ทำให้จุลินทรีย์ในทางเดินอาหารนำน้ำตาลชนิดนี้ไปใช้ จึงก่อให้เกิดการสร้างแก๊สภายในลำไส้ และมีการดึงน้ำเข้ามาภายในลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวเร็วขึ้น จึงเกิดอาการผิดปกติทางร่างกายดังต่อไปนี้

  • อาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ปวดท้อง จุกเสียด
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลว
  • ผายลมบ่อยกว่าปกติ
  • มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน

นมแลคโตสฟรี

นมแลคโตสฟรี คือนมวัวแท้ ที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายน้ำตาลด้วยแลคเตส เอนไซม์ธรรมชาติ ทำให้น้ำตาลที่มีอยู่ในนมหมดไป และยังทำให้โมเลกุลของนมเล็กลง แต่ยังสามารถคงรสชาติและคุณประโยชน์ของนมเอาไว้เทียบเท่ากับนมวัวใน ธรรมชาติทั่วไป อีกทั้งยังช่วยทำให้แลคโตสในนมมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ที่มีประโยชน์กับทางเดินอาหาร ในการลดจำนวนแบคทีเรีย ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหาร, อาการท้องผูก, ความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณวิตามิน บี 1 บี 2 บี 6 และ บี 12 ช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณสารพิษและเอนไซม์ที่เป็นพิเศษอันเกิดจากกระบวนเมตาบอลิซึม ทำให้สารพิษบริเวณตับลดลง ผู้ที่ชื่นชอบนมวัวเป็นชีวิตจิตใจสามารถหันมารับประทานนมแลคโตสฟรี เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพที่มากกว่า ดื่มง่าย ย่อยง่ายและได้คุณค่าครบถ้วน

สำหรับผู้ที่แพ้แลคโตส ไม่สามารถรับประทานนมชนิดนี้ได้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดแคลเซียมหรือวิตามินดี ดังนั้นควรเลือกดื่มนมประเภทอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนประกอบของแลคโตส หรือรับประทานวิตามินเสริม เพื่อให้สุขภาพร่างกายได้รับประโยชน์จากแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ

เรื่องแนะนำ

บทความแนะนำ