21 พฤศจิกายน 2567

จุลินทรีย์ (Microorganism) สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มีทั้งดีและไม่ดี พบเจอได้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ

จุลินทรีย์ (Microorganism)
สรุปโดยย่อ: จุลินทรีย์ (Microorganism) คือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยย่อยอาหารบางอย่างที่ร่างกายย่อยเองไม่ได้ เช่น เส้นใยอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และไขมันได้ดีขึ้น จุลินทรีย์ยังพบได้ในอาหารหมัก เช่น โยเกิร์ต กิมจิ และช่วยเพิ่มคุณค่าสารอาหารเหล่านั้น การกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร และทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
สารบัญเนื้อหา

จุลินทรีย์ (Microorganism) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากๆ ที่พบเจอได้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส สาหร่าย โดยจุลินทรีย์แต่ละตัวนั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งจุลินทรีย์ชนิดที่ดีและไม่ดี โดยจุลินทรีย์ชนิดดีนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การย่อยสลายเซลลูโลส หรือสารอินทรีย์บางประเภท ในขณะที่จุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดีอาจจะก่อให้เกิดโรคในร่างกายมนุษย์ พืชผัก และสัตว์ได้

อาหารที่สามารถพบจุลินทรีย์

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จุลินทรีย์สามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อม ทุกสถานที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในอากาศ ในน้ำ หรือในดิน รวมไปถึงในร่างกายของสัตว์และมนุษย์ ตลอดจนเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ถือเป็นสารที่มีการหมุนเวียนอยู่ในระบบนิวเศอยู่เสมอๆ โดยการดำรงชีพของจุลินทรีย์นั้น มีทั้งการทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต เนื่องมาจากจุลินทรีย์บางชนิดมีส่วนประกอบหลักเป็นคลอโรฟิลด์ บางชนิดทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย ส่งผลให้จุลินทรีย์บางชนิดที่ไม่ดีนั้นสามารถเป็นสาเหตุของการก่อโรคให้กับมนุษย์ พืชและสัตว์ได้ เช่น ไวรัส เป็นต้น แหล่งอาหารที่สามารถพบจุลินทรีย์ได้ ได้แก่:

  1. โยเกิร์ต: มีโปรไบโอติกที่เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium
  2. กิมจิ: อาหารหมักจากเกาหลี อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหาร เช่น Lactobacillus
  3. นัตโตะ: ถั่วเหลืองหมักจากญี่ปุ่น มีแบคทีเรีย Bacillus subtilis ที่ช่วยในการย่อย และส่งเสริมการดูดซึมสารอาหาร
  4. มิโสะ: ซุปหรือเครื่องปรุงที่ทำจากถั่วเหลืองหมัก อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้
  5. เทมเป้: ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหมักจากอินโดนีเซีย อุดมด้วยโปรตีน และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
  6. คอมบูชะ: เครื่องดื่มหมักจากชา มีจุลินทรีย์ที่ช่วยส่งเสริมระบบย่อยอาหาร
  7. ผักดอง: ผักที่ผ่านการหมัก เช่น ผักกาดดอง มีจุลินทรีย์ที่ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร
  8. ชีสบางชนิด: เช่น ชีสเชดดาร์ หรือชีสเกาดา ที่ผ่านการหมักจนเกิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์

จุลินทรีย์กับการใช้งานทางด้านโภชนาการ

ประโยชน์ของจุลินทรีย์ทางด้านโภชนการที่เป็นแพร่หลายและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ก็คือการนำเอามาหมักอาหารบางชนิด ซึ่งเป็นการนำเอาจุลนทรีย์หลายชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น แบคทีเรีย รา ยีสต์ จึงสามารถนำมาถนอมหรือแปรรูปอาหารได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุลินทรีย์บางชนิดในกลุ่มนี้ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์ได้เช่นกัน เพราะสามาถทำให้อาหารเน่าหรือบูดได้ กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคภายในร่างกายมนุษย์และสัตว์ เช่น โรคบิด โรคอหิวาตกโรค โรคอาหารเป็นพิษ โรคผิวหนัง อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้วัสดุข้าวของเครื่องใช้บางชนิด ผุพังหรือเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้นอีกด้วย

จุลินทรีย์ที่มีความเกี่ยวข้องทางด้านโภชนาการ

จุลินทรีย์ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องสารอาหารสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามหน้าที่หลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางโภชนาการ เช่น การย่อยสลาย การผลิตสารอาหาร และการดูดซึมสารอาหาร

1. แบคทีเรีย (Bacteria)

แบคทีเรีย ถือเป็นประเภทหนึ่งของจุลินทรีย์ที่ถูกนำมาใช้ในการถนอมและแปรรูปอาหาร โดยการหมัก ทำให้อาหารเหล่านั้นสามารถเก็บได้ในระยะยาวเวลายาวนานขึ้น เช่น การใช้แบคทีเรียในกรรมวิธีหมักแตงกวาดอง หรือกะหล่ำปลีดอง นอกจากนี้ แบคทีเรียยังสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในอาหารบางประเภทได้เช่นกัน โดยสร้างเอนไซม์แล้วส่งออกมานอกเซลล์เพื่อย่อยอาหาร ทำให้ได้สารอาหารประเภทใหม่หรือสารผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดโมเลกุลเล็กลง จากนั้นก็จะทำการดูดซึมกลับเข้าสู่เซลล์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกลายเป็นสารผลิตภัณฑ์ จำพวกกรดอินทรีย์ แอลกอฮอล์ หรือแก๊สต่างๆ

โยเกิร์ต
โยเกิร์ตมีแบคทีเรียชนิดดี

แบคทีเรียที่ทำหน้าที่ในการสร้างกรดต่างๆ ได้แก่

  • แบคทีเรียชนิดสร้างกรดแลกติก แบคทีเรียประเภทนี้ เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่จะทำให้น้ำตาลเกิดปฏิกิริยาทางเคมีเปลี่ยนเป็นกรดแลกติก ทำให้อาหารบางชนิดที่มีแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ มีรสเปรี้ยว อันประกอบไปด้วย ไส้กรอกอีสาน, นมเปรี้ยว, แหนม, โยเกิร์ต, เนยแข็ง, ผักดองหรือกิมจิ
  • แบคทีเรียชนิดสร้างกรดอะซิติก แบคทีเรียประเภทนี้ เป็นกลุ่มซึ่งทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแอลกอฮอลล์หรือเอทานอลด้วยปฏิกิริยาทางเคมี จนได้ออกมาเป็นกรดอะซิติก ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่พบได้ก็คือ น้ำส้มสายชู หรือวุ้นมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ แบคทีเรียชนิดสร้างกรดอะซิติก ยังสามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิเมอร์บางชนิดได้ด้วยเช่นกัน เช่น แบคทีเรียที่ใช้ในกรรมวิธีผลิตอาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ

2. รา (Fungi)

รา คือหนึ่งประเภทของจุลินทรีย์ ที่สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายในโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในกรรมวิธีการหมักของอาหารบางชนิด เช่น เต้าเจี้ยว เนยแข็ง และซีอี้ว

อาหารที่มีส่วนประกอบของเต้าเจี้ยว
อาหารที่มีส่วนประกอบของเต้าเจี้ยว

รา ที่นิยมนำมาใช้ในงานโภชนาการครัวเรือและอุตสาหกรรมทางด้านอาหารประกอบไปด้วย

รา Aspergillus Niger

ราที่มีหน้าที่ในการสังเคราะห์เอนไซม์เพกทิเนส โดยสามารถนำมาใช้ทำให้น้ำผลไม้เกิดความใส นอกจากนี้ยังใช้ย่อยเพกตินสำหรับแช่ต้นแฟลกซ์เพื่อทำผ้าลินิน อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมการผลิตกรดซิติกหรือกรดน้ำส้มได้ และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหมึก สีย้อมและทางการแพทย์

รา Actinomucor Elegans

ราที่สามารถนำมาใช้หมักทำเต้าหู้ยี้ ซึ่งถือเป็นราที่มีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีบนผิวของเต้าหู้ โดยกรรมวิธีของการเปลี่ยนเต้าหู้ให้กลายเป็นเต้าหู้ยี้ของรานั้น จะสร้างเส้นใยสีขาวขึ้นมาบนผิวเต้าหู้และสร้างเอนไซม์ออกมาย่อยสลายโปรตีนภายในก้อนเต้าหู้ จนได้เป็นเต้าหู้ยี้

รา Monascus Purpureus

ราที่นำมาหมักข้าวแดงหรืออังคัก สามารถนำไปใช้เป็นสารแต่งสีในอาหารประเภทต่างๆได้ เช่น นำมาผสมในเต้าหู้ยี้เพื่อให้มีสีแดง เป็นต้น

นอกจากราจะมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการแล้ว ยังสามารถนำมาสร้างประโยชน์ทางด้านอื่นได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสารปฏิชีวนะ การผลิตกรดอินทรีย์หรือเอนไซม์ประเภทต่างๆ อีกทั้งทางด้านการเกษตร ยังสามารถนำรามาเป็นเครื่องมือในการป้องกันและจำกัดศัตรูพืช วัชพืช และป้องกันความเสื่อมสภาพของพืชบางชนิดได้

3. ยีสต์ (Yeast)

ยีสต์ เป็นจุลินทรีย์ชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ในการหมักอาหารเป็นหลัก โดยที่พบได้ทั่วไปคือ การนำยีสต์มาหมักแป้งให้ขนมปังฟู การนำยีสต์มาทำโดนัท นอกจากนี้ยังสามารถใช้ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลได้ โดยใช้ผลิตเชื้อเพลิงสะสมในยานพาหนะ และใช้ในงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ยีสต์ชนิดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีดังต่อไปนี้

ขนมปัง
ขนมปังฟูได้เพราะมียีสต์

ยีสต์ Saccharomyces Cerevisiae

เป็นยีสต์ที่นำมาสังเคราะห์เอนไซม์ อินเวอร์เทส นิยมนำมาทำลูกกวาดและไอศกรีม เพราะสามารถเปลี่ยนซูโครสให้เป็นกลูโคสแลกฟรักโตสได้

ยีสต์ Saccharomyces Cerevisiae Var. Ellipsoideus

เป็นยีสต์ที่เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตน้ำส้มสายชู โดยนำมาใช้ทำน้ำผลไม้ น้ำเชื่อม กากน้ำตาล ซึ่งยีสต์จะเปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านั้นให้กลายเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ แล้วเติมแบคทีเรีย Acetobacter Sp. เพื่อเปลี่ยนเอทิลแอกอฮอลล์ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของกรดอะซิติก

4. โปรไบโอติก

โปรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร และช่วยในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ การรับประทานโปรไบโอติกเป็นประจำสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหาร เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินต่างๆ นอกจากนี้โปรไบโอติกยังสามารถกระตุ้นการสร้างเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร และเพิ่มความสามารถของระบบทางเดินอาหารในการดูดซึมสารอาหารต่างๆ ได้ดีขึ้น

ตัวอย่างของโปรไบโอติกที่นิยมใช้ในอาหาร ได้แก่ Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium bifidum ซึ่งสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก เช่น โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว

หน้าที่ของจุลินทรีย์

จุลินทรีย์ไม่เพียงแค่มีบทบาทในกระบวนการย่อยสลายสารอาหารในร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในกระบวนการผลิตสารอาหารที่จำเป็น

1. การสังเคราะห์วิตามิน

จุลินทรีย์บางชนิดสามารถผลิตวิตามินที่ร่างกายต้องการได้ ตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดสามารถสังเคราะห์วิตามิน B เช่น วิตามิน B12 ไบโอติน และกรดแพนโทเทนิก ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงาน และการสร้างเม็ดเลือด

วิตามิน K ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากการสังเคราะห์โดยจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด

2. การผลิตกรดอะมิโนที่จำเป็น

กรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีน ซึ่งร่างกายต้องการเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมเนื้อเยื่อ จุลินทรีย์บางชนิดสามารถสังเคราะห์กรดอะมิโนที่จำเป็นซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตได้เองจากสารอาหารที่รับประทาน การสังเคราะห์กรดอะมิโนนี้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอ

3. การหมักและการเพิ่มคุณค่าสารอาหารในอาหาร

กระบวนการหมักเป็นวิธีการหนึ่งที่อาศัยจุลินทรีย์ในการย่อยสลายสารอาหาร และสร้างสารอาหารใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น กรดแลคติกที่เกิดจากกระบวนการหมักอาหารชนิดต่างๆ ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก และแคลเซียมในอาหาร นอกจากนี้การหมักยังช่วยย่อยสลายสารบางชนิดที่ร่างกายย่อยยาก เช่น ไฟเตตในธัญพืช ซึ่งช่วยให้สารอาหารต่างๆ ถูกดูดซึมได้ง่ายขึ้น

กระบวนการหมัก สามารถเพิ่มคุณค่าสารอาหารในอาหารได้ เช่น กระบวนการหมักนมเพื่อผลิตโยเกิร์ตจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามิน B โดยเฉพาะวิตามิน B2 และ B12 ที่มีประโยชน์ต่อระบบประสาท และการเผาผลาญพลังงาน

4. การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตบางประเภท โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น เส้นใยอาหาร ไม่สามารถถูกย่อยสลายได้โดยเอนไซม์ของร่างกาย จุลินทรีย์ในลำไส้ช่วยทำหน้าที่ย่อยสลายเส้นใยเหล่านี้ให้กลายเป็นน้ำตาล และกรดไขมันสายสั้น ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึม และใช้เป็นพลังงานได้

5. การดูดซึมไขมัน

จุลินทรีย์บางชนิดสามารถช่วยในการย่อยไขมัน และช่วยดูดซึมกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย กรดไขมันสายสั้นที่ถูกผลิตขึ้นโดยจุลินทรีย์ยังมีบทบาทในการปรับสมดุลการอักเสบ และการรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ

โทษของจุลินทรีย์

แม้จุลินทรีย์จะมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการที่หลากหลาย แต่การมีอยู่ในอาหารของจุลินทรีย์บางประเภทนั้น ก็เป็นโทษต่อร่างกายมนุษย์ได้เช่นกัน เพราะจุลินทรีย์สามารถทำให้อาหารมีรูป รส และกลิ่น รวมไปถึงเนื้อสัมผัสที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อาหารเหล่านั้นเน่าเสียได้ โดยเอนไซม์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารเน่าเสียจากจุลินทรีย์ได้ง่ายมากขึ้น ทั้งนี้อาหารแต่ละชนิดนั้นมีอัตราการเน่าเสียในความเร็วที่แตกต่างกันออกไป บางอาหารเน่าเสียเร็ว บางอาหารเน่าเสียช้า โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

1. อาหารเน่าเสียยาก

อาหารที่มีความคงตัวดี เพราะมีปริมาณน้ำภายในอาหารน้อยมาก เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำตาล และแป้ง โดยอาหารประเภทเหล่านี้นั้นสามารถเก็บไว้ได้นานหลายปีโดยไม่เน่าเสีย

2. อาหารเน่าเสียเร็วปานกลาง

อาหารที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ได้แก่ ผัก-ผลไม้ที่แก่เต็มที่ แต่ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำมาก แต่สิ่งที่ทำให้เน่าเสียได้เร็วปานกลาง เนื่องจากการมีเนื้อเยื่อที่ยึดกันแน่น ทำให้อาหารส่วนใหญ่ที่มีเปลือกหุ้ม จึงเก็บได้ค่อนข้างนาน

3. อาหารเน่าเสีย

อาหารที่มีปริมาณน้ำมาก เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ สามารถเน่าเสียได้ภายในระยะเวลา 1-2 วันเท่านั้น

อาหารทั้ง 3 ประเภทนี้มีปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่อาหารแต่ละชนิดนั้นสามารถเก็บได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันด้วยนั่นเอง

จุลินทรีย์ในอาหารหมัก

การรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ เช่น โปรไบโอติก และอาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหาร และสร้างสารอาหารที่ร่างกายต้องการ อาหารที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ต กิมจิ และนัตโตะ ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ แต่ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างของอาหารหมักที่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โยเกิร์ตซึ่งอุดมไปด้วยโปรไบโอติก และแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อย และดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ยังมีเทมเป้ ซึ่งเป็นถั่วเหลืองหมักที่มีโปรตีนสูง และอุดมไปด้วยวิตามินที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการหมัก

การเลือกอาหารที่มีจุลินทรีย์

การเลือกอาหารที่มีจุลินทรีย์ควรเน้นไปที่อาหารหมักที่ผ่านการผลิตอย่างธรรมชาติ เพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการแปรรูปมากเกินไป เพราะอาจทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ถูกทำลาย

จุลินทรีย์ที่ไม่ดี

จุลินทรีย์ที่ไม่ดี หรือที่เรียกว่า “จุลินทรีย์ก่อโรค” เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถทำให้ร่างกายเกิดปัญหาหากมีจำนวนมากเกินไป หรือเจริญเติบโตในบริเวณที่ไม่ควร เช่น ในระบบทางเดินอาหารหรืออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องเสีย ท้องอืด อาหารเป็นพิษ หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกัน บางครั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ไม่ดีสามารถเกิดจากการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย เช่น เมื่อจุลินทรีย์ที่ดีถูกทำลายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

1. แบคทีเรียอีโคไล (Escherichia coli หรือ E. coli)

แม้ว่าแบคทีเรียอีโคไลบางสายพันธุ์จะอยู่ในลำไส้และไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่สายพันธุ์ที่ไม่ดีสามารถทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น ท้องเสีย อาเจียน และปวดท้อง โดยมักพบในอาหารที่ปนเปื้อน เช่น เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ผักสดที่ไม่ได้ล้างอย่างสะอาด การติดเชื้ออีโคไลที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับลำไส้

2. ซัลโมเนลลา (Salmonella)

ซัลโมเนลลาเป็นแบคทีเรียที่พบได้บ่อยในอาหารดิบหรืออาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ จุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ และมีอาการท้องเสีย อาเจียน และปวดท้อง อาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนประมาณ 12-72 ชั่วโมง

3. เชื้อคลอสตริเดียม ดิฟิไซล์ (Clostridium difficile หรือ C. difficile)

แบคทีเรียนี้เป็นอีกชนิดที่สามารถพบในลำไส้ แต่จะก่อให้เกิดปัญหาเมื่อเจริญเติบโตมากเกินไป โดยเฉพาะหลังจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ทำลายจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ เมื่อจุลินทรีย์ที่ดีถูกทำลาย จุลินทรีย์ชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง รวมถึงปัญหาในลำไส้ที่รุนแรงกว่านั้นได้

4. ยีสต์ก่อโรค (เชื้อรา Candida)

Candida เป็นเชื้อราประเภทหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติในร่างกาย แต่เมื่อเติบโตมากเกินไป โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร สามารถทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรืออาการท้องอืด ท้องผูก นอกจากนี้ Candida ยังสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ปาก ผิวหนัง และระบบสืบพันธุ์ ในกรณีของ Candida ที่เจริญเติบโตมากผิดปกติ จะแสดงอาการชัดเจน เช่น อาการคัน ปวด และระคายเคืองในบริเวณที่ติดเชื้อ

5. เชื้อวิบริโอ (Vibrio)

เชื้อวิบริโอเป็นแบคทีเรียที่มักพบในอาหารทะเลดิบ โดยเฉพาะหอยนางรมและกุ้งที่ไม่ได้ปรุงสุก เชื้อวิบริโอสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง และในบางกรณีอาจรุนแรงจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด หากระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับเชื้ออ่อนแอ

สาเหตุที่ทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดีเพิ่มจำนวนมากขึ้น

จุลินทรีย์ที่ไม่ดีสามารถเจริญเติบโตมากขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่จุลินทรีย์ที่ดีไม่สามารถรักษาสมดุลไว้ได้ หลายปัจจัยที่ทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดีเพิ่มขึ้น เช่น:

  1. การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป: ยาปฏิชีวนะไม่ได้ทำลายแค่จุลินทรีย์ที่ไม่ดี แต่ยังส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย เมื่อสมดุลของจุลินทรีย์ถูกทำลาย จุลินทรีย์ที่ไม่ดีสามารถเจริญเติบโตมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
  2. อาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย: การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้าง หรืออาหารทะเลดิบ สามารถนำจุลินทรีย์ที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกาย
  3. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: หากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ เช่น ในกรณีของผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ป่วยเป็นเวลานาน จุลินทรีย์ที่ไม่ดีจะสามารถเจริญเติบโต และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในร่างกายได้ง่ายขึ้น

วิธีป้องกันการเพิ่มขึ้นของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี

  1. การรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก: หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารดิบหรืออาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกเต็มที่ เช่น เนื้อสัตว์ดิบ และอาหารทะเลดิบ
  2. การรับประทานโปรไบโอติกและพรีไบโอติก: การบริโภคอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต กิมจิ และนมเปรี้ยว จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ดี และรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น: ยาปฏิชีวนะควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย
  4. รักษาความสะอาดส่วนตัว: การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการแพร่กระจายของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี

จุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการย่อย และการดูดซึมสารอาหาร การเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์ เช่น โปรไบโอติก และอาหารหมัก สามารถช่วยปรับปรุงสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

แหล่งอ้างอิง/งานวิจัย

  • เรื่อง: The Role of Probiotics in Gastrointestinal Health • เขียนโดย: Mary Ellen Sanders - 2009
  • เรื่อง: Gut microbiota: A key regulator of metabolic diseases • เขียนโดย: Patrice D. Cani - 2013
  • เรื่อง: The human microbiome: at the interface of health and disease • เขียนโดย: Peter J. Turnbaugh - 2007

รู้หรือไม่?

ถ้าร่างกายขาดจุลินทรีย์ที่ดี ระบบย่อยอาหารจะทำงานไม่เต็มที่ อาจย่อยอาหารบางอย่างได้ยากขึ้น เช่น เส้นใย หรือสารอาหารที่ย่อยยาก ทำให้ดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี นอกจากนี้ ยังอาจมีปัญหากับการดูดซึมวิตามิน และแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการ ผลก็คือ อาจรู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการท้องผูก หรือท้องอืดบ่อยๆ และระบบย่อยอาหารโดยรวมทำงานได้ไม่สมบูรณ์

เรื่องแนะนำ

บทความแนะนำ