21 พฤศจิกายน 2567

น้ำตาล (Sugar) สารมีรสหวาน นำไปประกอบอาหารได้ และใช้เป็นพลังงานเสริมให้กับร่างกาย

สรุปโดยย่อ: น้ำตาล (Sugar) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น กลูโคส ฟรุกโทส แลกโทส และซูโครส ซึ่งพบในอาหารต่าง ๆ เช่น ผลไม้ นม และน้ำตาลทราย ร่างกายย่อยน้ำตาลและเปลี่ยนเป็นกลูโคสที่ใช้เป็นพลังงาน แต่การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงเร็วและเกิดอาการหิวอย่างรุนแรง การเลือกบริโภคน้ำตาลจากแหล่งที่ดีและไม่มากเกินไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ
สารบัญเนื้อหา

น้ำตาล (Sugar) คือชื่อเรียกของคาร์โบไฮเดรตชนิดละลายน้ำ มีรสหวาน โดยมีส่วนประกอบเป็นธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน สามารถนำไปประกอบอาหารเพื่อปรุงรสชาติอาหารให้มีความหวานได้ อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเสริมให้กับร่างกาย โดยน้ำตาลที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางโภชนาการมากที่สุดก็คือ น้ำตาลซูโครส หรือน้ำตาลทราย

สมการเคมี ของน้ำตาล Sucrose
สมการเคมี ของน้ำตาล Sucrose

น้ำตาลไม่ใช่เพียงแต่ให้รสหวานอย่างเดียวเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว ไม่ใช่น้ำตาลทุกชนิดจะให้ความหวาน ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาลแลคโตส ที่มีอยู่ในน้ำนมมนุษย์หรือน้ำนมของวัว ถือเป็นน้ำตาลที่ไม่ออกรสชาติหวาน เพราะน้ำตาลแลคโตสมีปริมาณความหวานอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้รสชาติที่ได้จะมีความแตกต่างจากน้ำตาลประเภทอื่นๆ

นมแลคโตสฟรี คือ นมที่ถูกเอาสารแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลในนมออกไป เพื่อให้คนที่แพ้แลคโตสสามารถดื่มนมได้โดยไม่ท้องอืดหรือท้องเสีย คนที่แพ้แลคโตสมักมีปัญหาในการย่อยแลคโตส เพราะร่างกายไม่มีเอนไซม์ที่ช่วยย่อย แลคโตสฟรีจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหานี้ แต่ยังอยากได้ประโยชน์จากการดื่มนม เช่น แคลเซียมและโปรตีน

น้ำตาลเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ และยังช่วยให้ร่างกายเกิดความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะมีส่วนกระตุ้นการทำงานของสมอง นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อาหารกระป๋องและผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่รวดเร็ว

เมื่อบริโภคน้ำตาล ร่างกายจะย่อยและเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกลูโคส ซึ่งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว กลูโคสเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์สมองและกล้ามเนื้อ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น จะทำให้ร่างกายรู้สึกมีพลัง กระปรี้กระเปร่า และสมองทำงานได้ดีขึ้นในช่วงเวลานั้น

แต่หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ก็อาจทำให้พลังงานลดลงเร็วหลังจากนั้น เนื่องจากร่างกายจะผลิตอินซูลินออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลีย และเกิดความหิวอย่างหนักขึ้นมาอีกครั้ง เรียกว่าอาการ “น้ำตาลตก”

น้ำตาลตก

อาการ น้ำตาลตก หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายและสมองขาดพลังงานอย่างรวดเร็ว อาการนี้มักเกิดหลังจากที่ร่างกายได้รับน้ำตาลหรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงในปริมาณมาก และอินซูลินถูกหลั่งออกมามากเกินไปเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลลดลงอย่างรวดเร็วและต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ

อาการของน้ำตาลตก

  1. อ่อนเพลีย: รู้สึกหมดแรงหรืออ่อนแรง เพราะร่างกายไม่มีพลังงานเพียงพอจากการขาดกลูโคส
  2. หิวมาก: ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นทันที จึงทำให้เกิดความหิวรุนแรง โดยเฉพาะอยากกินของหวานหรืออาหารคาร์โบไฮเดรตสูง
  3. เหงื่อออก: ร่างกายตอบสนองต่อภาวะขาดพลังงานโดยเพิ่มการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เหงื่อออกง่าย
  4. มึนหัวหรือเวียนศีรษะ: สมองขาดกลูโคส ทำให้การทำงานไม่เต็มที่ อาจรู้สึกสับสนหรือมึนหัว
  5. มือสั่นหรือใจสั่น: ร่างกายตอบสนองต่อระดับน้ำตาลที่ต่ำโดยการกระตุ้นระบบประสาท ทำให้มือสั่นหรือใจเต้นเร็ว
  6. ความหงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวน: ระดับน้ำตาลที่ต่ำส่งผลต่อสมอง ทำให้อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย

การจัดการเมื่อเกิดอาการน้ำตาลตก

เมื่อรู้สึกอาการน้ำตาลตก เช่น หิวมาก อ่อนเพลีย หรือมือสั่น ควรรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนหรือโปรตีน เช่น ขนมปังโฮลเกรน ผลไม้ หรือถั่ว เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่แนะนำให้รับประทานน้ำตาลมากเกินไปในคราวเดียว เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นและตกอย่างรวดเร็วอีกครั้ง!

การป้องกันภาวะน้ำตาลตก

ทำได้โดยรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ไฟเบอร์ และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งจะช่วยชะลอการย่อยและดูดซึมน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวานหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก และควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ และกินบ่อย ๆ นอกจากนี้ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอและรักษาสมดุลของอาหารจะช่วยลดโอกาสเกิดอาการน้ำตาลตก

ประเภทของน้ำตาล

น้ำตาลสามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะของโมเลกุล ดังต่อไปนี้

1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharides)

น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คือน้ำตาลที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด ละลายได้ดี เหมาะสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ภายในร่างกายได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อย น้ำตาลชนิดนี้มีรสหวาน โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ ดังนี้

น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharides)
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharides)
  • น้ำตาลกลูโคส (Glucose) กลูโคสเป็นน้ำตาลที่ถือว่ามีความจำเป็นต่อร่างกาย และเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการทำงานของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะเซลล์สมองและเซลล์เม็ดเลือดแดง พบได้ในผัก ผลไม้ บริเวณส่วนต่างๆ ของพืชที่มีรสหวาน เช่น ข้าว แป้ง ขนมปัง ผลไม้ และน้ำผึ้ง
  • ฟรุกโทส (Fructose) ฟรุกโทสเป็นน้ำตาลผลไม้ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อย สามารถพบได้ใน แอปเปิ้ล องุ่น กล้วย และแตงโม รวมถึงน้ำผึ้งและน้ำเชื่อมข้าวโพด เครื่องดื่มต่างๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง
  • กาแลกโทส (Galactose) กาแลกโทสเป็นน้ำตาลที่พบในนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต และนมวัว โดยกาแลกโทสมักรวมตัวกับกลูโคสเพื่อสร้างแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลหลักในนม ไม่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ แต่จะอาศัยเกาะกลุ่มรวมอยู่กับน้ำตาลกลูโคสในรูปแบบน้ำตาลโมเลกุลคู่ ที่อยู่ภายในน้ำนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม

น้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharides)

น้ำตาลโมเลกุลคู่คือน้ำตาลที่ประกอบขึ้นจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 โมเลกุล ที่ส่วนใหญ่พบได้ตามธรรมชาติทั่วไป ทั้งในพืช ผัก ผลไม้ และอาหารประเภทต่างๆ โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ ดังนี้

น้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharides)
น้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharides)
  • น้ำตาลมอลโทส (Moltose) มอลโทสเป็นน้ำตาลที่เมื่อถูกย่อยสลายจะได้น้ำตาลกลูโคส 2 โมเลกุล พบได้ในอาหารที่มีการย่อยแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง และพืชที่งอกใหม่ โดยเฉพาะในข้าวมอลต์และธัญพืชที่ผ่านกระบวนการงอก
  • น้ำตาลแลกโทส (Lactose) แลกโทสเป็นน้ำตาลที่มีรสชาติหวานน้อยกว่าน้ำตาลประเภทต่างๆ และย่อยสลายได้ยากกว่าน้ำตาลโมเลกุลคู่อื่นๆ เมื่อย่อยสลายจะได้น้ำตาลกาแลกโทสและน้ำตาลกลูโคสอย่างละ 1 โมเลกุล โดยประโยชน์ของน้ำตาลแลกโทสนั้นก็คือ การนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไวน์ พบได้ใน นมวัว ชีส และโยเกิร์ต
  • น้ำตาลซูโครส (Sucrose) ซูโครสเป็นน้ำตาลทรายทั่วไปที่ที่เราใช้ในการปรุงอาหาร เมื่อถูกย่อยสลายจะได้น้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลฟรุกโตสอย่างละ 1 โมเลกุล โดยพบได้มากในอ้อย หัวบีท มะพร้าวและ ผลไม้ที่มีรสหวานทุกชนิด

อาการแพ้แลคโตส (แพ้นมวัว) คือภาวะที่ร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม และผลิตภัณฑ์จากนมไม่ได้ เพราะขาดเอนไซม์ที่ชื่อว่า “แลคเตส” ทำให้เมื่อดื่มนมหรือกินอาหารที่มีแลคโตส จะเกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง มีแก๊สเยอะ และท้องเสีย อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นไม่นานหลังจากบริโภคนม

น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ หรือน้ำตาลเชิงซ้อน (Polysaccharides)

น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ คือคาร์โบไฮเดรตที่ได้มาจากน้ำตาลโมเลกุลหลายๆ โมเลกุลมารวมกัน ซึ่งรสชาติที่ได้นั้นจะไม่มีความหวาน มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ยาก หรือละลายไม่ได้เลย สามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ ดังนี้

น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ (polysaccharides)
น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ (polysaccharides)
  • แป้ง (Starch) คือพอลิแซ็กคาไรด์ ได้มาจากการนำเอาน้ำตาลกลูโคสหลายๆ โมเลกุลมาเชื่อมต่อกัน มีความสามารถในการละลายน้ำได้เล็กน้อย เป็นสารอาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถดูดซึมได้ทันที เพราะจำเป็นต้องผ่านการย่อยสลายให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อน จึงจะสามารถดูดซึมได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการเก็บสะสมอาหารของพืช โดยพืชจะทำการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบแป้ง แล้วนำไปเก็บสะสมไว้ตามส่วนต่างๆ
  • เซลลูโลส (Cellulose) จัดเป็นพอลิแซ็กคาไรด์ที่ได้มาจากการรวมตัวกันของกลูโคสจำนวนหลายหมื่นโมเลกุลมาเชื่อมต่อกัน ทำให้รูปร่างของเซลลูโลสจะมีลักษณะเป็นเส้นใยขนาดยาว ซึ่งไม่สามารถละลายน้ำได้ บทบาทสำคัญของเซลลูโลสก็คือ ไม่ได้เป็นรูปแบบในการเก็บสะสมอาหารของสิ่งมีชีวิต แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์พืช โดยมีหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังเซลล์นั้นๆ และเนื่องจากเซลลูโลสเป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่มาก จึงส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่สัตว์ประเภทที่กินพืชเป็นอาหารสามารถย่อยสลายได้ เพราะกระเพาะของสัตว์เหล่านั้นมีแบคทีเรียที่มีความสามารถในการย่อยสลายเซลลูโลสให้กลายเป็นกลูโคสได้
  • ไกลโคเจน (Glycogen) เป็นพอลิแซ็กคาไรด์ที่มีขนาดของโมเลกุลใหญ่กว่าแป้งมาก ถือเป็นรูปแบบการสะสมอาหารที่พบได้เฉพาะในมนุษย์และสัตว์ โดยร่างกายของมนุษย์และสัตว์นั้นจะเปลี่ยนกลูโคสที่พบได้ปริมาณมากในกระแสเลือดให้กลายเป็นไกลโคเจน เพื่อนำไปเก็บสะสมไว้ในบริเวณกล้ามเนื้อและจับ กลายเป็นหน่วยพลังงานสำรองที่ร่างกายจะดึงเอาไปใช้เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง เช่น การออกกำลังกาย การวิ่ง การทำงานที่ต้องอาศัยแงงานเป็นหลัก และจะสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นกลูโคสได้ในช่วงที่ร่างกายขาดสารอาหารหรือมีปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำลง

น้ำตาลกับการถนอมอาหาร

น้ำตาลมีบทบาทสำคัญในการถนอมอาหารมานานแล้ว โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเก็บรักษาได้นาน น้ำตาลช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้หลายวิธี

การดูดซับความชื้น

น้ำตาลมีคุณสมบัติในการดูดซับความชื้นจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ทำให้อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น แยม ผลไม้แห้ง หรือขนมหวาน มีความชื้นต่ำลง เมื่อความชื้นในอาหารลดลง แบคทีเรีย รา และจุลินทรีย์ที่ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตจะไม่สามารถเติบโตได้หรือเจริญเติบโตได้ช้าลง ทำให้กระบวนการเน่าเสียถูกชะลอไป ตัวอย่างเช่น แยมที่มีน้ำตาลสูงจะสามารถเก็บได้นานเพราะไม่มีความชื้นมากพอให้จุลินทรีย์เติบโต

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เข้มข้น

น้ำตาลในปริมาณสูงในอาหาร ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มข้นของน้ำตาลสูง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อกระบวนการออสโมซิส (Osmosis) ในจุลินทรีย์ น้ำจากภายในเซลล์ของจุลินทรีย์จะถูกดึงออกมาเพื่อลดความเข้มข้นของน้ำตาลนอกเซลล์ ทำให้เซลล์แห้งและไม่สามารถเจริญเติบโตได้ การเจริญเติบโตของแบคทีเรียและจุลินทรีย์จึงถูกยับยั้ง เช่น การทำลูกกวาดหรือถั่วกรอบที่ใช้น้ำตาลในการถนอมอาหาร

การควบคุมการเน่าเสีย

น้ำตาลมีคุณสมบัติในการชะลอการเน่าเสียของอาหาร เพราะช่วยสร้างสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ การเติมน้ำตาลในปริมาณสูงจะลดการเคลื่อนไหวของน้ำภายในอาหาร ทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อราไม่สามารถเข้าถึงน้ำในอาหารได้เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเติบโต ตัวอย่างเช่น การเคลือบน้ำตาลบนผลไม้แห้งจะช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราและการเน่าเสีย ทำให้สามารถเก็บผลไม้แห้งได้นานขึ้น

ตัวอย่างของการใช้น้ำตาลในการถนอมอาหาร

  • แยมและเยลลี่: การเติมน้ำตาลในปริมาณมากในแยมและเยลลี่ไม่เพียงแค่เพิ่มความหวาน แต่ยังช่วยให้เก็บได้นานขึ้น
  • ผลไม้แห้ง: น้ำตาลมักถูกใช้เพื่อเคลือบผลไม้แห้ง ทำให้สามารถเก็บรักษาได้โดยไม่เกิดเชื้อรา
  • ขนมหวาน: ขนมหวานแบบดั้งเดิม เช่น ลูกกวาดหรือถั่วกรอบ ใช้น้ำตาลเป็นตัวช่วยถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสีย
  • น้ำเชื่อมถนอมผลไม้: น้ำตาลในน้ำเชื่อมช่วยเก็บรักษาผลไม้เชื่อมให้คงทนและยืดอายุการเก็บได้นาน
  • ลูกกวาดและคาราเมล: น้ำตาลในลูกกวาดหรือคาราเมลช่วยถนอมอาหารและยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น
  • น้ำผึ้ง: น้ำผึ้งที่มีน้ำตาลสูงสามารถถนอมอาหารได้นานและป้องกันการเน่าเสีย
  • มาร์ชเมลโล่: น้ำตาลในมาร์ชเมลโล่ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่สูญเสียคุณภาพ
  • ผลไม้เคลือบน้ำตาล: น้ำตาลเคลือบช่วยให้ผลไม้แห้งคงความหวานและไม่เน่าเสียเร็ว

ระวังการกินน้ำตาลในอาหารแปรรูป

น้ำตาลในอาหารแปรรูป คือน้ำตาลที่ถูกเติมเข้าไปในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ ความหวาน และอายุการเก็บรักษา โดยไม่ได้เป็นน้ำตาลที่มีตามธรรมชาติในอาหารนั้น ๆ น้ำตาลที่เติมในอาหารแปรรูปมักมีหลายรูปแบบ เช่น ซูโครส ฟรุกโทส น้ำเชื่อมข้าวโพด และกลูโคส

  • เครื่องดื่มน้ำอัดลม: มีน้ำตาลสูง เช่น ซูโครส หรือน้ำเชื่อมข้าวโพด
  • ขนมขบเคี้ยว: เช่น คุกกี้ เค้ก และช็อกโกแลต มีการเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวาน
  • โยเกิร์ตรสผลไม้: มักมีน้ำตาลเพิ่มเข้าไปเพื่อปรับปรุงรสชาติ แม้ว่าจะมีผลไม้ตามธรรมชาติ
  • ซอสและเครื่องปรุงรส: เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสบาร์บีคิว และน้ำสลัด มักมีการเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสชาติ
  • ซีเรียลอาหารเช้า: หลายชนิดที่มีรสหวานจะมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเพื่อทำให้น่ารับประทานมากขึ้น
  • ขนมปังและเบเกอรี่: เช่น ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังโฮลวีต หรือครัวซองต์ มักมีการเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวานและเนื้อสัมผัสที่นุ่ม
  • น้ำผลไม้สำเร็จรูป: แม้จะมาจากผลไม้ แต่บ่อยครั้งจะมีการเติมน้ำตาลเข้าไปเพื่อเพิ่มความหวานและรสชาติ
  • กราโนล่าบาร์หรือโปรตีนบาร์: แม้จะดูเป็นของว่างสุขภาพ แต่บางชนิดมีน้ำตาลซ่อนอยู่มากเพื่อเพิ่มความหวานและเนื้อสัมผัส
  • อาหารแช่แข็ง: เช่น พิซซ่าแช่แข็งหรืออาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ มักมีน้ำตาลซ่อนอยู่เพื่อปรับปรุงรสชาติและช่วยในการถนอมอาหาร
  • เครื่องดื่มเกลือแร่หรือเครื่องดื่มชูกำลัง: มักเติมน้ำตาลในปริมาณสูงเพื่อเพิ่มรสชาติและพลังงานอย่างรวดเร็ว

น้ำตาลในอาหารแปรรูปมักไม่มีคุณค่าทางโภชนาการอื่น ๆ เช่น วิตามินหรือแร่ธาตุ ทำให้เป็นพลังงานที่ “ว่างเปล่า” โดยไม่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย การบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากจากอาหารแปรรูปอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินจำเป็นและกระตุ้นความอยากอาหาร โดยเฉพาะของหวานและขนมขบเคี้ยว

ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลในอาหารแปรรูป เพราะน้ำตาลในอาหารเหล่านี้มักถูกเติมเข้าไปในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมพลังงานและระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลแฝงสูง ร่างกายจะได้รับพลังงานจำนวนมากอย่างรวดเร็ว แต่ระดับพลังงานเหล่านั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทำให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อย และต้องการอาหารเพิ่มขึ้น

น้ำตาลเป็นสารอาหารที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้จะเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับก็ตาม เพราะหากบริโภคในปริมาณที่มากไป ก็อาจจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายตามมาได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ร่างกายสามารถดึงเอาพลังงานจากน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ก่อให้เกิดโรคตามมา

รู้หรือไม่?

หากเลือกได้ ควรเลือกบริโภคน้ำตาลจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ผลไม้สด น้ำผึ้ง และน้ำเชื่อมเมเปิ้ล ดีกว่าน้ำตาลขัดสี เพราะนอกจากน้ำตาลแล้ว ยังมีไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่

เรื่องแนะนำ

บทความแนะนำ